สินค้าจีนถล่มตลาดหนัก-รง.ไทยปิดตัวกว่า 3,500 โรง ชิ้นส่วนรถสันดาปจ่อคิว

14 มิถุนายน 2567
สินค้าจีนถล่มตลาดหนัก-รง.ไทยปิดตัวกว่า 3,500 โรง ชิ้นส่วนรถสันดาปจ่อคิว

สินค้าจีนถล่มตลาดหนัก ตัวเร่งโรงงานไทยปิดตัวเพิ่ม 3 ปีครึ่ง ปิดตัวแล้วกว่า 3,500 โรง สภาอุตฯ ผวา ลาม 30 กลุ่มอุตสาหกรรม จี้ทุกภาคส่วนช่วยสกัด กลุ่มชิ้นส่วนรถเครื่องยนต์สันดาปภายในน่าห่วง หลังค่ายซูซูกิ-ซูบารุ ประกาศปิดไลน์ผลิต อุตฯเหล็กระส่ำต่อใช้กำลังผลิตแค่ 29%

ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ KKP Research ระบุในปี 2564 มีโรงงานผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยปิดตัวเฉลี่ย 57 โรงงานต่อเดือน เดือนมกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2566 ปิดตัวอีก 1,704 โรงงาน ล่าสุดข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรง (รวมตั้งแต่ปี 2564 ถึงพฤษภาคม 2567 คาดปิดตัวไปแล้วมากกว่า 3,500 โรง) โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดตัวส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร ผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล ผลิตภัณฑ์โลหะ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น  ทั้งนี้โรงงานไทยนับจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรงงานผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางแนวโน้มปิดตัวเพิ่มขึ้น มีตัวเร่งจากหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่ ผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อจำหน่ายตลาดในประเทศ ต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้านำเข้าราคาต่ำจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาทุกทิศทุกทาง ทั้งที่นำเข้าอย่างถูกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายผ่านการสำแดงเท็จแบบเหมาตู้มาขายตัดราคาสินค้าไทย ทั้งส่งขายผ่านช่องทางค้าปลีกทั่วไป และในช่องทางออนไลน์

จีนเพิ่มการส่งออกปั๊มจีดีพี

นอกจากนี้สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้าจีนที่ทะลักส่งขายทั่วโลก จากเวลานี้จีนยังมีปัญหาสภาพคล่องภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีของจีนเกือบ 30% และอยู่ระหว่างเร่งแก้ปัญหา ส่งผลเวลานี้จีนหันมาพึ่งพาภาคการส่งออกเพื่อพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น จากที่จีนเป็นโรงงานผลิตของโลก ทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าส่งออก เพื่อชดเชยกับจีดีพีที่หายไปจากภาคอสังหาริมทรัพย์

“อย่างไรก็ดี เวลานี้สินค้าจีนได้ถูกสหรัฐกีดกัน ผ่านสงครามการค้า ล่าสุดสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกนับร้อยรายการในอัตรา 25-100% อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เดิมเก็บภาษี 27% เพิ่มเป็น 102% และยุโรปอีกหลายชาติประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีน จากที่ตลาดรองรับมีน้อยลง และส่งออกไปยากขึ้น ทำให้สินค้าจีนโอเวอร์ซัพพลาย ต้องหันมาพึ่งพาตลาดเอเชีย และอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยที่ยังมีกำลังซื้อ เพื่อระบายสินค้ามากขึ้น เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสายป่านไม่ยาวของไทยต้องปิดตัว ส่วนที่ยังอยู่แม้บางรายมีการปิดไลน์การผลิต แต่ยังคงฝ่ายขาย หรือฝ่ายการตลาดไว้ และเปลี่ยนสถานะจากเป็นผู้ผลิตเป็นผู้นำเข้าสินค้ามาขายแทน”

ผลกระทบจากสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศที่ส่งเข้าทุ่มตลาด ทำให้ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสมาชิกของ ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ในปีนี้หากไม่มีมาตรการสกัดกั้นที่ได้ผล คาดสมาชิกของ ส.อ.ท.อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรม

สินค้าไทยเอาท์-เริ่มล้าสมัย

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า นอกจากปัจจัยสินค้าจีนที่กระทบผู้ประกอบการทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่เป็นตัวเร่งให้โรงงานผลิตไทยปิดตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเหตุผลจาก ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลกยุคใหม่ และยังเป็นลักษณะการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) และสินค้าที่ผลิตเป็นประเภทที่คล้าย ๆ กันกับคู่แข่งขันในภูมิภาค ทั้งสินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่ไทยเสียเปรียบเรื่องต้นทุน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน และแรงงานรองรับการผลิตขาดแคลนจากไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีของไทยเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม มีการย้ายฐานไปเพื่อนบ้านที่มีแรงงานรองรับ ขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง และสินค้าไฮเทค การลงทุนจากต่างประเทศไม่ค่อยมาไทย ส่วนใหญ่จะย้ายไปอยู่ที่สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ปัจจุบันสมาชิกของ ส.อ.ท.มีเพียงไม่กี่กลุ่มหรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถผันตัว หรือปรับตัวสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ แต่อีกกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอียังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้

“หากถามว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่น่าห่วง และเสี่ยงปิดตัวอีก มองว่าน่าห่วงทุกส่วน คือจะกระทบไปเรื่อย ๆ เพราะที่ผ่านมามาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินโดนีเซียแล้ว เรายังไม่ดี หรือเข้มงวดพอที่จะช่วยชะลอสินค้านำเข้าที่มีราคาและมาตรฐานต่ำทะลักเข้าไทย จากทุกปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ดัชนีภาคการผลิต (MPI) ของไทยลดลงต่อเนื่องมากว่า 18 เดือน ล่าสุดอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55%”

ลามโรงงานต่างชาติในไทยปิดตัว

นอกจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงแล้ว ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่างล่าสุด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดโรงงานผลิตในไทยภายในสิ้นปี 2568 จากมีปัญหายอดขาย และได้รับผลกระทบการเข้ามาทำตลาดของรถยนต์ EV จีน และบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2567 จากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาถึงซัพพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตและขายชิ้นส่วนและอะไหล่สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่เป็นซับคอนแทรคของบริษัทได้รับความเดือดร้อน บางรายอาจต้องปิดตัว

เหล็กจีนกดกำลังผลิตไทย

สอดคล้องกับ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ที่เผยว่า ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2567 การใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมเหล็กไทยช่วง 4 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ประมาณ 29.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32.4% มีปัจจัยลบจากการนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเหล็กจากจีนยังส่งเข้ามาทุ่มตลาดจำนวนมาก กระทบต่อความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ ที่น่าจับตาและน่าห่วงคือจากการประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากประเทศจีนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาจจะทำให้มีการระบายสินค้าเหล็กมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น

สมอ.ลุยคุมสินค้าด้อยคุณภาพ

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และราคาถูกจีนเข้ามาแย่งตลาดผู้ประกอบการไทย สมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าจีนที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดภายใน 6 เดือน รวมทั้งได้ออกมาตรการเร่งด่วน อาทิ มาตรการ 3 ร. คือ เร่งตรวจ, เร่งกำกับ และเร่งปราบ โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มา ทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด

มาตรการจับจริง-ปรับจริง หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการมาให้ข้อมูลร้านค้า และรายละเอียดของสินค้า หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแฟลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย

รวมถึงมาตรการให้ความรู้ สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการลักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว เป็นต้น

อย่างไรก็ดีในปี 2567 สมอ.ตั้งเป้าจะเพิ่มมาตรฐานภาคบังคับให้ได้อีก 40 มาตรฐาน จากเดิมที่มีอยู่ 144 มาตรฐาน เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับ สมอ. ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินอะไรได้

“ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึงเมษายน 2567 สมอ.สามารถยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากจีนมูลค่ากว่า 76.2 ล้านบาท หรือสัดส่วน 38% จากมูลค่ารวม 199.4 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนกันยายน 2565 ถึงเมษายน 2566 สามารถยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 47.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าจากจีนมูลค่า 13.8 ล้านบาท หรือสัดส่วน 29%”


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.